คำขวัญอำเภอ |
ก้าวสู่เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ |
ที่อยู่ที่ว่าการอำเภอ |
ถนนปรมินทรมรรคา ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร 86000 |
หมายเลขโทรศัพท์ |
0-7751-1214, 0-7750-3725 |
หมายเลขโทรสาร |
0-7750-3725 |

อำเภอเมืองชุมพรเดิมเรียกว่า “อำเภอท่าตะเภา” ย้อนหลังลงไปเรียกว่า “เมืองชุมพร” และก่อนเมืองชุมพรเรียกว่า “บ้านประเดิม” เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประมาณระหว่างปีพ.ศ.1820 ถึง ปีพ.ศ.1860 จะเห็นได้ว่าอาณาเขตสมัยนั้นแผ่ออกไปกว้างขวางมาก ทั้งทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทางทิศใต้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิ คือเมืองอู่ทองกับเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีและเมืองนครศรีธรรมราช ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตอนนั้นยังไม่มีจารึกชื่อเมืองชุมพร จึงเป็นไปได้ว่าเมืองชุมพรคงยังไม่มี แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 มีเมืองชุมพรปรากฏอยู่ในกฎหมายนั้นแล้ว ดังนั้นจึงพอที่จะอนุโลมได้ว่าเมืองชุมพรคงจะมีมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยากับ ต้นสมัยรัตนโกสินทร์
ตามที่กล่าวมานั้นจึงพอจะกล่าวได้ว่า อำเภอเมืองชุมพรคงจะเป็นตำบล อำเภอ และเมืองชุมพรมาตามลำดับ แต่จะกำหนดให้แน่ชัดว่าจากสมัยใดนั้นไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด
อยู่บริเวณส่วนกลางของจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นบริเวณคอคอดกระ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย มีพื้นที่ 748.39 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ |
อำเภอท่าแซะและอำเภอปะทิว |
ทิศใต้ |
อำเภอสวี |
ทิศตะวันออก |
อ่าวไทย |
ทิศตะวันตก |
อำเภอกระบุรี (จังหวัดระนอง) |
อำเภอเมืองชุมพรมีเนื้อที่ประมาณ 748.39 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศของอำเภอชุมพรเป็นเทือกเขาด้านตะวันตก พื้นที่ลอนลาดกับที่ราบในตอนกลางและด้านตะวันออก เหมาะสำหรับทำการเกษตร พื้นที่ด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายสำคัญ3สายของอำเภอ ที่ไหลไปทางตะวันออกตามสภาพลาดเอียงของพื้นที่ลงสู่ทะเล คือแม่น้ำท่าตะเภา คลองชุมพรและคลองวิสัย พื้นที่ตอนกลางเป็นลูกคลื่นลอนลาดและลูกคลื่นลอนชัน สลับกันไป เป็นเขตที่มีการเพาะปลูกผลไม้และไม้ยืนต้น ที่พื้นที่ด้านตะวันออกเป็นที่ราบและที่ราบลุ่ม มักจะมีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี
อำเภอเมืองชุมพรเป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสาเหตุให้มีฤดูกาลเพียง2ฤดูคือ
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม โดยในช่วงนี้ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ เป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง ดังนั้นเมื่อปะทะแนวเทือกเขาตะนาวศรีจึงทำให้เกิดฝนตกชุกตลอดพื้นที่ของ อำเภอ